วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ

ความเป็นไปเป็นมาของ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งตอนผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับพระราชทานชื่อนี้ ผมจึงชอบเรียกง่ายๆว่า “ สนามบินหนองงูเห่า ” นี่เป็นหนังเรื่องยาว เรื่องราวเกิดขึ้นก่อนผมมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกว่า 30 ปี เสียอีก และในที่สุดการตัดสินใจเรื่องสนามบินหนองงูเห่า มาอยู่บนบ่าท่านนายกชวน 1 ที่ต้องตัดสินใจอนุมัติงบประมาณก้อนโตถึง 120,000 ล้านบาท สำหรับโครงการนี้ ผมจะย่อเรื่องสั้น ๆ พอทราบเหตุที่ต้องสร้างสนามบินหนองงูเห่าดังนี้ และเพียงเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลชวนมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบิน สุวรรณภูมิ

ราว ๆ กลางปี พ . ศ . 2500 ผมยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ตอนนั้นทหารปกครองบ้านเมือง ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคจอมพลถนอม กิติขจร ในสมัยนั้นนักยุทธศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร ท่านเหล่านี้มองไกลมีวิสัยทัศน์ มองว่าประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพ ฯ นั้นตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Air Hub of Southeast Asia) นักยุทธศาสตร์สมัยกึ่งพุทธกาล ( ประมาณปี 2500 เขามักเรียกช่วงนั้นว่ากึ่งพุทธกาล ) จึงมองในอนาคตว่าไม่นานสนามบินดอนเมืองคงจะขยายอีกไม่ได้มากเพราะเป็นฐานทัพอากาศ ฉะนั้นรัฐบาลยุด พ . ศ . 2500 จึงตัดสินใจเวนคืนที่ดินหนองงูเห่าไว้เพื่อสร้างสนามบินให้เป็นท่าอากาศยานกรุงเทพฯ แห่งที่ 2 (Second Bangkok International Airport, SBIA) เนื้อที่ดินที่เวนคืนนั้นมีขนาด 4 คูณ 8 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ ที่ตั้งหนองงูเห่าอยู่ห่างจากสนามบินดอนเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 25 กม . สมัยโน้นก็เรียกว่าอยู่นอกเมืองเพราะห่างตัวเมืองจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ 25 กม . ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิติขจร มีดำริจะสร้างสนามบินหนองงูเห่า ( สนามบินดอนเมืองเป็นฐานทัพอากาศ ) มีบริษัทต่างชาติชื่อว่า บริษัทนอร์ทรอป เสนอตัวมาสร้างสนามบินหนองงูเห่าให้ราคาประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทในขณะนั้น แต่ก็ไม่ได้สร้างเพราะนักศึกษาในยุคนั้นต่อต้านการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า จริงๆ แล้วนักศึกษาต่อต้านจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิติขจร เสียล่ะมากกว่าจนพลอยเป็นผลทำให้ไม่ได้สร้างสนามบินหนองงูเห่า

รัฐบาลต่อ ๆ มาก็พยายามเคาะฝุ่น พยายามจะสร้างสนามบินแห่งใหม่อีกหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ บางรายจะไปสร้างแถวๆ กำแพงแสนก็มี แต่ก็ชวดที่จะสร้างมาเรื่อยด้วยเหตุผลที่ผมไม่ขออธิบายว่าเพราะอะไร

เอาเป็นว่าสนามบินหนองงูเห่าก็เหมือนงูเห่า ขู่ฝ่อ ๆ มาเกือบ 35 ปี แต่งูไม่ฉกสักที หลังจากมีดำริจะสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ก็ไม่ได้สร้างสักที จนกระทั่ง ครม . ในสมัยรัฐบาลท่านอานันท์ ปันยารชุน ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ . ศ .2534 อนุมัติให้ดำเนินการโครงการท่าอากาศยานสากลแห่งที่ 2 และให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าอากาศยานกรุงเทพ ฯ แห่งที่ 2 โดยมีรัฐมนตรีว่าการทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการได้มีมติให้ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ( ทอท .) จัดจ้าง บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทั่วไปเป็นผู้วางแผนและออกแบบเบื้องต้น ตลอดจนช่วยบริหารการก่อสร้างและประสานงานด้านต่างๆของโครงการ

รัฐบาลชวน 1 มารับช่วงต่อจากรัฐบาลท่านอานันท์ ท่านนายกชวนและผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าอากาศยานนานาชาติ หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ต้องมาเกี่ยวข้องโดยตำแหน่งและในจังหวะเวลาที่ต่อเนื่องกัน

อันทีจริงตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผมมีท่านรัฐมนตรีช่วย ท่านทวี ไกรคุปต์ ดูแลด้านการขนส่งทางอากาศ ด้านสนามบิน เพราะผมเห็นท่านเป็นวิศวกร และท่านมีส่วนช่วยผมเป็นอย่างมากจนได้เริ่มต้นสนามบินหนองงูเห่า

มติ ครม . เมื่อ 7 พฤษภาคม พ . ศ .2534 ทำให้ผมต้องไปดูสนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นท่าอากาศยานสากลแห่งที่ 1 ของประเทศไทยค่อนข้างบ่อย ในช่วงปี 2535 เศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะรุ่งเรืองเฟืองฟู ตอนนั้นสนามบินดอนเมืองมีสภาพเป็นอย่างนี้

สนามบินดอนเมืองแออัดมาก ขยายแล้วขยายอีกให้รับผู้โดยสาร 25 ล้านคนต่อปี เดี๋ยวเดียวก็เต็ม ขยายอีกเป็นขนาด 35 ล้านคนต่อปีก็เต็มอีก จะขยายอีกก็ต้องเบียดทหารอากาศให้พ้นจากดอนเมือง สรุปว่าสนามบินรับผู้โดยสารเต็มแปล้ ล้นกว่านั้นไม่ได้ การจราจรทางอากาศ เครื่องบินต้องรอคิว Take off and Landing ก็นักยุทธศาสตร์รุ่นก่อนเขามองว่ากรุงเทพฯคือ “Air hub” ของภูมิภาคนี้ เครื่องบินจะไป ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา ก็แวะกรุงเทพฯ จะไป ยุโรป ก็แวะกรุงเทพฯ ลาว เขมร เพื่อนบ้านก็มาใช้สนามบินดอนเมือง
ปี พ . ศ .2535 ในขณะนั้นกรุงเทพขยายตัวขยายเมือง จนสนามบินดอนเมืองอยู่ในเมืองที่โอบล้อมด้วยตึกรามบ้านช่อง ตามหลักสนามบินควรอยู่นอกเมืองห่างไปสัก 20- 30 กม.
เครื่องบิน Take off and Landing จำนวนมาก อาจจะอันตราย และรบกวนชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วย เหตุผลทั้ง 3 ที่กล่าวมาแล้วทำให้ผมต้องตัดสินใจนำเสนอ ครม . ของท่านนายกชวน 1 ให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ
จำเป็นต้องรีบดำเนินโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ ฯ แห่งที่ 2 ด้วยงบประมาณ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเสนอมา โดยท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี
เพื่อให้มีงบประมาณไปอพยพโยกย้ายประชาชนในพื้นที่เวนคืนหนองงูเห่า ( 4 คูณ 8 กม . ) ผมก็ขออนุมัติ ครม . เพื่อยกเว้นไม่ให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ( ทอท .) นำเงินกำไร 50% ส่งเข้าคลัง เป็นเวลา 2 ปี แต่ให้นำเงินก้อนนี้ไปใช้ในการอพยพประชาชนออกจากที่ดินเวนคืน เพื่อเตรียมการก่อสร้างสนามบิน หนองงูเห่า
ครม. ของท่านนายกชวน 1 อนุมัติทั้ง 2 เรื่อง การเริ่มโครงการจริง ๆ คือเริ่มอพยพผู้คนออกจากเขตเวนคืน การออกแบบก่อสร้างก็เริ่มจริง ๆ ในปี พ . ศ .2536 สมัยรัฐบาลท่านนายกชวน 1 ผมเองก็มีภาระไปยกมือไหว้ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือน ทำเรือกสวนไร่นา ทำบ่อปลาอยู่บริเวณหนองงูเห่า ขอร้องให้เขาย้ายออกไป ซึ่งกว่าจะอพยพคนออกหมดก็ใช้เวลา 2 ปี หลังจากนั้นจึงมีการถมดินถมทรายในสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมท่านที่ต่อ ๆ จากผมไปเรื่อย ๆ สำหรับผมก็จะรู้เรื่องสนามบินหนองงูเห่าในช่วงต้น ๆ คือขั้นอพยพคนเท่านั้น การออกแบบสนามบินร่วมไปถึงขั้นต้นการก่อสร้าง การถมทราย ก็ไม่รู้รายละเอียดอะไรเพราะผมพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว

ผมพอมีส่วนในสนามบินหนองงูเห่าเท่านี้หลังจากนั้นสภาพการเมืองมีมาแล้วก็มีไป ผมก็เป็นสามัญชน เป็น ส . ส . ธรรมดา พ้นตำแหน่งการเป็นรัฐมนตรี ท่านที่เป็นรัฐมนตรีต่อ ๆ มาอีกหลายท่านก็สานต่องานกันไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ผมเขียนเรื่องนี้อยู่ ท่านรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มีส่วนสานงานต่อจากผมสารพัดเรื่อง ถนน 4 เลน รถไฟสี่รางทางคู่ สนามบิน ฯลฯ สานต่อกันไป ผมก็ได้แต่รับรู้เรื่องสนามบินสุวรรณภูมิจากข่าว ดีบ้าง เลวบ้าง ที่เจ็บใจคือข่าวโกงฉาวโฉ่ไปทั่วโลก

ผมเคยรำพึงกับตนเองว่า สนามบินนี้เป็นศูนย์กลางอะไรกันแน่ ? หรือว่าเป็นศูนย์กลางการคอรัปชั่นบันลือโลก ตอนผมเสนอให้ท่านชวน อนุมัติเงิน 120,000 ล้านบาทเพื่อเป็นงบในการสร้างสนามบิน ถ้าผมหยั่งรู้ว่าเขาจะโกงกันขนาดนี้ หากินกับสนามบินกันอย่างน่ารังเกียจน่าชังอย่างนี้ ผมควรเสนอท่านนายกชวนให้อนุมัติการก่อสร้างหรือไม่ หรือถ้าท่านนายกชวน ท่านหยั่งรู้ว่าเขาจะโกงกินกันขนาดนี้ ท่านจะอนุมัติ เงินจำนวน 120,000 ล้านบาท หรือไม่ ? ชักสงสัย !!!

ต่อ ๆ มาในรัฐบาลชวน 1 ท่านเห็นว่าโครงการก่อสร้างสนามบินหนองหูเง่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รัฐบาลชวน 1 จึงมีคำสั่งให้การบริหารจัดการโครงการก่อสร้างสนามบินดำเนินโดยคณะกรรมการโดยมีท่านรองนายก ศุภชัย พาณิชภักดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ( แต่อย่างไรกระทรวงคมนาคมก็ยังเป็นพระเอกในเรื่องนี้อยู่ )

เรื่องสนามบินหนองงูเห่า เล่าสู่กันฟังเพียงเท่านี้น่าจะพอ ผมต้องการชี้ประเด็นที่รัฐบาลชวน 1 มีส่วนในการตัดสินใจอนุมัติงบ 120,000 ล้านบาท และความจุสนามบิน 100 ล้าน คนต่อปีเป็นประการสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น